31/10/2024
เมล็ดพันธ์ใหม่ รุ่นที่ 5 มูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ ภายใต้บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ รังสรรค์จัด โครงการต้นกล้าความดีของสังคม ปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “Waste to Wonder พลังสร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้” ค้นหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ แข่งขันสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สะท้อนให้เห็นถึงความตระหนัก และความใส่ใจ เพื่อมุ่งหวังปลูกฝังให้เยาวชนมีบทบาทเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดี สร้างสังคมที่น่าอยู่ และพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
เมื่อวันที่ 29 - 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมสนับสนุนจัดทำโครงการ กับ มูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ นำโดย ดร.ชลิดา อนันตรัมพร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทฯ และเป็นประธานมูลนิธิอินเตอร์ลิ้งค์ให้ใจ จัดทำ “โครงการต้นกล้าความดีของสังคม ปีที่ 5 ภายใต้แนวคิด “Waste to Wonder พลังสร้างสรรค์ สู่นวัตกรรมจากวัสดุเหลือใช้”
ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำวัสดุเหลือใช้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมกับต้องการปลูกฝังให้เยาวชนเป็นคนดีมีคุณธรรม มีจริยธรรม และมีความซื่อสัตย์สุจริต ร่วมกับให้เยาวชนได้เรียนรู้ และเผยแพร่พระบรมราโชวาท พระราชดำรัสฯ ในรัชกาลที่ 9 นำมาเป็นหลักในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้ง เพื่อสร้างความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนอีกด้วย และยังเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้รู้จักการใช้ศักยภาพของตน เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ นำความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดพัฒนาตนเองต่อไปได้ โดยปีนี้ มีผู้ที่ผ่านการคัดเลือก เข้ารอบชิงชนะเลิศ จากทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 15 ทีม พร้อมชิงทุนการศึกษา มูลค่ารวมกว่า 50,000 บาท
สำหรับผลงานที่เข้าร่วมประกวดแข่งขันในปีนี้ มีความหลากหลาย และน่าสนใจเป็นอย่างมาก โดยมี การนำวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ เช่น ขวดพลาสติก กล่องกระดาษ แก้วพลาสติก มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้จริง เช่น โคมไฟ ชั้นวางรองเท้า ของตกแต่งบ้าน กระถางต้นไม้ และอื่น ๆ อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ภายในโครงการที่ครอบคลุมถึงการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้เทคนิคการรีไซเคิล และการคิดค้นผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ซึ่งเยาวชนจะได้ฝึกฝนการคิดอย่างสร้างสรรค์ และเรียนรู้ถึงผลกระทบของขยะที่มีผลต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก ดร.สามารถ สว่างแจ้ง มาร่วมเป็นวิทยากรใน หัวข้อ “กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา Knowledge of land” ซึ่งสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ไปต่อยอดประยุกต์ใช้ในอนาคตได้ เพื่อเป็นกำลังเสริมความคิดที่ดีในการแข่งขันนี้อีกด้วย
โดยผลการแข่งขัน เยาวชนผู้ที่ได้รับรางวัล มีดังนี้
รางวัลชนะเลิศ ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินวัลรางวัลมูลค่า 10,000 บาท และใบประกาศเกียรติคุณ
ทีม NOP.01 จากโรงเรียนโนนสะอาดพิทยาสรรค์ จังหวัดอุดรธานี
1.นางสาวชญาดา เทียมทะนงค์
2.นางสาวอรจิรา โบราณประสิทธิ์
3.นางสาวฐิติรัตน์ ภักดีราช
•คุณครูที่ปรึกษาทีม นางมนฤดี จูงพันธ์
----------------------------------------------------------------------------
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินวัลรางวัลมูลค่า 7,000 บาท และใบประกาศเกียรติคุณ
ทีมร้อยขุนเขา จากโรงเรียนทองผาภูมิวิทยา จังหวัดกาญจนบุรี
1.นางสาวสุพรรษา ภูมียา
2.นางสาวพรนภา บุญรอด
3.นางสาวสรมิษฐา โยยรัมย์
•คุณครูที่ปรึกษาทีม นายนิติ จำปีขาว
----------------------------------------------------------------------------
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้รับโล่รางวัลเกียรติยศ พร้อมเงินวัลรางวัลมูลค่า 5,000 บาท และใบประกาศเกียรติคุณ
ทีมหอยเชอรี่ สู่ปูนขาว จากโรงเรียนศรีสโมสรวิทยา จังหวัดชัยนาท
1.นางสาวพลอยชมภู สิบแก้ว
2.นางสาวพิมพิกา ปานหลุมข้าว
3.นางสาวกนกพร เราประเสริฐสุข
•คุณครูที่ปรึกษาทีม นางสาวกนกวรรณ บุญเกตุ
----------------------------------------------------------------------------
รางวัล Popular Vote
จากโรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี
1.นางสาวเพชรศา เสียงหาญ
2.นายกิตตินันท์ โพธิ์เกตุ
3.นางสาวอาจารีย์ บุญพันธ์ศักดิ์
•คุณครูที่ปรึกษาทีม นายสมพร พ่อเพียโคตร
ดร.ชลิดา อนันตรัมพร เปิดเผยอีกว่า “โครงการนี้ ได้จัดทำมาอย่างต่อเนื่อง และก้าวเข้าสู่ปีที่ 5 จากคำตั้งมั่นที่ว่า “เพราะคุณ คือ เมล็ดพันธุ์ที่พร้อมเติบโต เป็นต้นกล้าที่ดีของประเทศ” ร่วมกับได้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชน เพื่อปลูกฝัง เพิ่มทักษะในการคิดสร้างสรรค์ และนำไปต่อยอดความรู้ โดยในปีนี้ มีความพิเศษเพิ่มมากขึ้น จากความตั้งใจที่จะผลักดันให้เยาวชนใส่ใจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไปพร้อมกับรักษ์โลก เพื่อต่อยอดไปสู่พลังทางความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ให้เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ได้จริงในระยะยาว นับว่าโครงการต้นกล้าความดี ปีที่ 5 รุ่นนี้ ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ความคิดใหม่ ๆ ให้แก่เยาวชนเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการจัดการขยะ และการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า ปลูกฝังสร้างพลังเยาวชนให้พร้อมนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม ในวันนี้รู้สึกประทับใจเป็นอย่างมากกับความคิดสร้างสรรค์ ที่ได้เห็นความตั้งใจของเยาวชนทุกคน โดยผลงานที่ได้เข้าแข่งขันนั้นแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และเราหวังว่าโครงการนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจให้เยาวชนคนอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และร่วมกันสร้างโลกที่น่าอยู่ไปพร้อมกันกับเรานะคะ”
โครงการต้นกล้าความดีของสังคม ปีที่ 5 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนไทย และเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาสังคม โดยผลงานที่เกิดจากโครงการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต